พลังงานแสงอาทิตย์
หลักการผลิตกระแสไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์นั้นต่างจากหลักการทำ งานของโรงไฟฟ้าทั่วไป เพราะตัวกำเนิดกระแสไฟฟ้า ไม่ใช่ขดลวดที่หมุนอยู่ระหว่างขั้วแม่เหล็ก แต่ตัวกำเนิดกระแสไฟฟ้าเป็นสารกึ่งตัวนำที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สารกึ่งตัวนำนี้โดยทั่วไปนิยมผลิตจากสารซิลิกอน ซึ่งเป็นวัสดุที่ราคาถูก ไม่เป็นพิษ และหาได้ง่าย สารกึ่งตัวนำที่ว่านี้ในสภาวะปกติจะเป็นฉนวน หรือเป็นสิ่งที่ไม่นำไฟฟ้า แต่เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ ซึ่งมีพลังงานมากพอที่จะไปทำให้อิเล็กตรอนที่อยู่ในอะตอมของซิลิกอนบนเซลล์ แสงอาทิตย์หลุดออกมาจากอะตอม เมื่อจำนวนอิเล็กตรอนหลุดออกมากพอจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน หรือที่เรียกว่ากระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะถูกส่งเข้าสู่ระบบเพื่อการนำไปใช้ต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ระบบ คือ Grid connected system และ Stand alone system แล้วแต่จะเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่ง หรือใช้ทั้ง 2 ระบบ ก็ได้

 

 

สำหรับอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 ระบบ กล่าวคือ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Grid connected ซึ่งเป็นระบบที่นำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้าของการ ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีกำลังการผลิตรวม 36.63 กิโลวัตต์ โดยระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Grid connected นั้นสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เฉพาะในเวลา กลางวัน เท่านั้น ส่วนในเวลากลางคืนนั้น อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้ทำการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Stand alone ซึ่งเป็นระบบเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้ในเวลากลางวันไว้ในแบตเตอรี่ โดยมิได้ต่อร่วมกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยกำลังการผลิตรวม 8.325 กิโลวัตต์ ซึ่งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้นำมาใช้กับระบบไฟฟ้าแสงสว่างบางส่วนของศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

 

 

ในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 8 จุด คือ

 

1.แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิตรวม 28.86 กิโลวัตต์ โดยได้ติดตั้ง 2 ระบบ คือ ระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของประเทศ (Grid connected) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 12 กลุ่มๆ ละ 11 แผง กำลังผลิตรวม 24.42 กิโลวัตต์ และระบบอิสระ (Stand alone) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 8 กลุ่มๆ ละ 3 แผง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4.44 กิโลวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 32 ลูก

 

2. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ค่ายการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ขนาดกำลังผลิตรวม 16.095 กิโลวัตต์ โดยได้ติดตั้ง 2 ระบบเช่นกัน คือ ระบบเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าของประเทศ (Grid connected) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 6 กลุ่มๆ ละ 11 แผง กำลังผลิตรวม 12.21 กิโลวัตต์ และระบบอิสระ (Stand alone) ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 185 วัตต์ ต่ออนุกรมกัน 7 กลุ่มๆ ละ 3 แผง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 3.885 กิโลวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 24 ลูก

 

3. ชุดโคมไฟส่องถนน (Solar Street Light) ด้านหน้าศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 50 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 3 ลูก จำนวน 3 ชุด โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโคมไฟที่ใช้สำหรับส่องสว่างบริเวณทางเดิน ถนนเข้าหมู่บ้าน ตรอก ซอย ลานจอดรถ โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องเดินสายและง่ายต่อการติดตั้ง และสามารถเปิดปิดได้เองอัตโนมัติ โดยจะเปิดในเวลากลางคืน 12 ชั่วโมง และปิดในเวลากลางคืน เพื่อประหยัดพลังงาน แม้ในวันที่ไม่มีแสงแดดโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีพลังงานสำรอง สามารถที่จะทำงานให้แสงสว่างต่อเนื่องได้อีก 2-3 วัน


4. ชุดโคมไฟจราจร (Solar Traffic Light) ด้านหน้าศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ขนาด 6 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 2 ลูก จำนวน 2 ชุดไฟสัญญาณจราจรกะพริบให้สัญญาณด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ติดตั้งกับเสาเหล็กหรือฐานตั้ง

 

5. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าเบญจพรรณ ติดตั้งบริเวณอ่างเก็บน้ำจืด ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กำลังผลิตขนาด 600 วัตต์ (จำนวน 12 แผงๆ ละ 50 วัตต์)

 

6. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าเบญจพรรณ ติดตั้งบริเวณสนามยิงปืน (เก่า) กำลังผลิตขนาด 500 วัตต์ (จำนวน 10 แผงๆ ละ 50 วัตต์)

 

7. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำรดน้ำต้นไม้บริเวณสวนป่ามฤคทายวัน (ข้างโรงเรียนสื่อสารฯ) กำลังผลิตขนาด 600 วัตต์ จำนวน 3 แผงๆ ละ 200 วัตต์

 

8. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้สำหรับสูบน้ำเพื่อการฟื้นฟูป่าบก กำลังผลิตขนาดขนาด 650 วัตต์ (จำนวน 5 แผงๆ ละ 130 วัตต์)

1